
การเข้าเรียนในโรงเรียนอนุบาลวันแรกเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับเด็กและคุณพ่อคุณแม่ เด็กต้องเปลี่ยนสภาพแวดล้อมใหม่ ออกจากโซนแสนสุขและปลอดภัยมาอยู่ในโลกใหม่ ที่ทั้งแปลกและเต็มไปด้วยคนที่ไม่คุ้นเคย แต่นั้นคืออีกขั้นของการโตเป็นผู้ใหญ่ เป้าหมายของการเลี้ยงมนุษย์คนหนึ่งให้เติบโต คือ การทำให้เขาสามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง และโรงเรียนคือที่แรกๆ ที่เด็กมีโอกาสได้ใช้ชีวิตโดยปราศจากพ่อแม่
เมื่อเด็กเข้าเรียนในโรงเรียน เด็กจะมีหน้าที่อื่นๆเพิ่มคือการเป็นนักเรียน จากเดิมที่เคยเป็นเด็กน้อยของบ้าน เป็นศูนย์กลางของความสนใจ เต็มไปด้วยคนรู้ใจที่แค่มองตาก็รู้ว่าต้องการอะไร ได้รับประทานสิ่งที่อยากรับประทาน ในเวลาที่ต้องการ
แต่เมื่อเด็กเข้าเรียน เด็กเป็นฝ่ายที่ต้องเติบโตและปรับตัวเข้าหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นบริบทที่แตกต่างไปจากประสบการณ์เดิม การเข้าเรียนจึงเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเด็กที่เกิดมาบทโลกนี้ได้ไม่กี่ปี ดังนั้นจึงเป็นเรื่องธรรมชาติที่เด็กๆ จะร้องไห้ วิตกกังวล และเครียด (ในระดับที่เหมาะสม) นั่นคือโอกาสที่เด็กจะได้ฝึกจัดการความรู้สึกต่างๆ ด้วยตนเองตามวัย คุณพ่อคุณแม่ควรคาดหวังว่า นักเรียนจะร้องไห้ ไม่อยากเข้าเรียน ไม่อยากแยกจากพ่อแม่ แม้ไม่เกิดขึ้นในวันแรก ก็มีโอกาสเกิดขึ้นในวันอื่นๆ อาทิตย์อื่น เพราะเด็กบางคนมีปฏิกิริยาในการรับรู้แตกต่างกัน
สิ่งที่พ่อแม่สามารถช่วยได้ เพื่อให้การปรับตัวง่ายขึ้นสำหรับเด็ก
1. เตรียมใจตนเองให้สงบ คาดหวังสิ่งที่ลูกจะแสดงออกในวันแรกให้ตรงกับธรรมชาติเด็ก เช่น การร้องไห้ การบ่นเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ เล็กๆ น้อยๆ เช่น การกิน การนอน นม อาหาร เพื่อน เข้าใจว่าพ่อแม่คือพื้นที่ปลอดภัยของเด็ก เด็กมักจะเก็บเรื่องราวที่ไม่พอใจ ขับข้องหมองใจเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างวันมาระบายกับพ่อแม่ เพราะไม่มีที่ใดสบายและเข้าใจเด็กได้ดีเท่าที่บ้าน
คาดหวังในตัวเด็กให้ตรงกับธรรมชาติของวัย ไม่ว่าเด็กจะมีความเป็นผู้ใหญ่ ทักษะทางวิชาการ ทางสังคมล้ำหน้ากว่าเพื่อน นั่นมิได้หมายความว่าเด็ก = ผู้ใหญ่ พ่อแม่ควรอนุญาตให้เด็กเป็นเด็ก ร้องไห้ งอแง อ่อนแอ ได้ตามต้องการ
2. รับฟังและสะท้อนอารมณ์ (อย่างพอเหมาะ) เมื่อเด็กร้องไห้ เศร้า พ่อแม่มีหน้าที่รับฟังอย่างสงบ เห็นอกเห็นใจ ทำความเข้าใจว่าเด็กต้องการระบาย ไม่ต้องการให้ช่วยแก้ปัญหา ปัญหาที่เด็กพบเจอที่โรงเรียนส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่เด็กๆ สามารถแก้ไขเองได้ หากพ่อแม่ตื่นตระหนกและเข้าแทรกแซงและเข้าช่วยเหลือทันที จะเป็นการฉวยโอกาสในการพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาของเด็ก พ่อแม่พูดทวนสิ่งที่เด็กเล่า เพื่อให้เด็กฟังเสียงที่ตัวเองพูดออกมา หากดูแล้วเด็กต้องการให้เราแนะนำการแก้ปัญหา ให้พูดชี้นำให้เด็กช่วยคิด แก้ปัญหาด้วยตนเอง เช่น
“แม่เข้าใจว่าหนูรู้สึกเศร้า หนูคิดว่าจะทำยังไงได้บ้างให้เศร้าน้อยลง”
“แม่รู้ว่าหนูไม่ชอบนอน งั้นเรามาช่วยกันคิดว่าจะทำยังดีนะ บอกใครดี?”
“หนูไม่ชอบที่เพื่อนมาดึงของเล่นไป งั้นทำยังไงให้เพื่อนรู้ดี? มาฝึกพูดกันไหม?”
หากเกิดความกังวล ให้แสดงความกังวลกับครูประจำชั้น ไม่ควรแสดงความกังวลผ่านเด็ก เพราะจะทำให้เด็กยิ่งวิตกกังวล และส่งผลให้เด็กไม่เล่าเรื่องราว ความกังวล ให้กับพ่อแม่ฟังอีกในอนาคต
3. พัฒนาการถดถอย เกิดขึ้นได้ในช่วงแรกของการเข้าเรียน เพราะการเข้าเรียน แยกจากพ่อแม่เป็นเรื่องใหญ่ เด็กบางคนต้องการชดเชยความรัก ความใกล้ชิดที่เสียไปในช่วงกลางวัน มักจะแสดงพฤติกรรมเกาะแกะ ร้องไห้ง่าย เอาแต่ใจมากกว่าปกติกับพ่อแม่ในตอนเย็น เด็กอาจไม่อยากทำสิ่งที่ตนเองเคยทำได้ เช่น การแต่งตัว การรับประทานอาหารเอง ช่วงถดถอยนี้อาจกินเวลา 1-4 เดือน ขึ้นอยู่กับพื้นอารมณ์ของเด็ก เด็กที่กำลังเข้าเรียนไม่ควรมีการเปลี่ยนแปลงอื่นๆในชีวิต เช่น มีน้อง ย้ายที่อยู่ เปลี่ยนสมาชิกในบ้าน
4. การเข้าเรียนของลูกก็ยากสำหรับพ่อแม่ พ่อแม่ควรทำความเข้าใจกับอารมณ์ ความรู้สึกของตนเอง พูดคุยกับผู้ใหญ่ เพื่อน เกี่ยวกับความรู้สึก ความกังวลของตนเอง การได้รับการสนับสนุนทางอารมณ์จากเพื่อนและครอบครัวจะทำให้พ่อแม่สามารถก้าวผ่านความวิตกกังวลไปได้
แคร์โรลล์ เพรพ มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือพ่อแม่และเด็กปรับตัวกับการแยกจาก พ่อแม่สามารถใช้เวลาอยู่ภายในโซนผู้ปกครองกับเด็กได้นานเท่าที่ต้องการ สิ่งที่พ่อแม่ต้องพึ่งระลึกถึง คือ เป้าหมายที่ในที่สุดเด็กจะต้องแยกจาก เป็นตัวของตัวเอง เจอปัญหา แก้ไขปัญหา ใช้ชีวิตในโรงเรียนได้เองในที่สุด เพื่อที่เด็กจะได้เติบโตไปใช้ชีวิตในสังคมที่ใหญ่ขึ้นได้อย่างมั่นใจ
อ่าน ช่วยพัฒนาภาษาอังกฤษของลูกที่บ้านให้ได้ผล
อ่าน Letting your child go






