
การเล่นส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยอย่างไร
การเล่น เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตวัยเด็กมากกว่าพันปีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเล่นอิสระหรือการเล่นแบบมีโครงสร้าง การเล่นถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น แม้ในช่วงเวลาท้าทายที่สุดอย่างสงครามโลก เด็ก ๆ ในยุคนั้นก็ยังสามารถหาวิธีเล่นได้ (Frost, 2019) การเล่นสร้างสุข ความสนุกสนาน เด็กได้สิ่งเหล่านั้นอัตโนมัติจากการเล่น (Brown, 2010) นอกจากนั้นการเล่นได้รับการยอมรับว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญของการศึกษาปฐมวัยในหลายประเทศทั่วโลก
การเล่นพัฒนาร่างกาย ระหว่างที่เด็กเล่น เด็กมักเกิดการเคลื่อนไหว เด็กต้องขยับร่างกาย เช่น วิ่ง กระโดด ปีนป่าย และการเล่นกีฬา เกม เด็กได้พัฒนาการทำงานประสานกันของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ช่วยพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวที่จำเป็น การเล่นที่มีกิจกรรมที่ใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก เช่น การหยิบจับของชิ้นเล็ก ร้อยลูกปัด ใช้มือหยิบหยอดวัตถุ หรือการทำงานศิลปะและงานประดิษฐ์ช่วยพัฒนากล้ามเนื้อนิ้วและมือ การทำงานประสานกันของมือและตา การเล่นที่เด็กได้ใช้ประสาทสัมผัสในการสำรวจพื้นผิวและวัสดุต่างๆ ช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสและการเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งรอบตัว

การเล่นพัฒนาทักษะทางสังคม Vygotsky เน้นย้ำความสำคัญของการเล่นในการพัฒนาทักษะทางสังคมของเด็ก การเล่นเป็นวิธีธรรมชาติที่เด็กใช้ในการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะสังคม เด็กต้องสื่อสารสนทนาและการโต้ตอบกับผู้อื่นขณะเล่น ทำให้เด็กต้องใช้การสังเกตุสีหน้าท่าทาง รับรู้ความต้องการความรู้สึกของผู้อื่น และสื่อสารตอบโต้ด้วยคำพูดหรือท่าทาง นอกจากนี้การเล่นบางครั้งยังต้องการความร่วมมือ เกมและกิจกรรมที่เด็กชอบเล่นหลายๆอย่างต้องเล่นกันเป็นทีมและอาศัยการทำงานร่วมกัน เมื่อเด็กไม่ได้รับโอกาสในการเล่นมากพอ เด็กประสบปัญหาทักษะทางสังคม (Daubert et al., 2018)
การเล่นบทบาทสมมุติเป็นโอกาสที่เด็กจะได้สวมบทบาทที่หลากหลาย ช่วยทำให้เด็กเข้าอกเข้าใจความคิด ความรู้สึก บทบาทของผู้อื่น ในมุมมองที่แตกต่างไป (Holis, 2017) การเล่นยังส่งเสริมให้เด็กรู้จักการแก้ปัญหาข้อขัดแย้ง เรียนรู้ที่จะเจรจาต่อรอง ประนีประนอม และแก้ปัญหาร่วมกัน (Karlsson & Nasi, 2023) เด็กสามารถเรียนรู้บรรทัดฐานทางสังคมทั่วไป เช่น การแบ่งปัน การสลับกันเล่น ผ่านการเล่น ซึ่งทักษะเหล่านี้เป็นรากฐานสำหรับการสร้างความสัมพันธ์ มิตรภาพ และความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มหรือของสังคม ซึ่งเป็นความต้องการทางจิตวิทยาพื้นฐานของมนุษย์

การเล่นพัฒนาทักษะทางอารมณ์ การเล่นเป็นส่วนสำคัญสำหรับการพัฒนาทางอารมณ์ของเด็ก ช่วยให้เด็กๆ สามารถถ่ายทอดความรู้สึกของตนเองได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นความสุข ความโกรธ ความหงุดหงิดใจ หรือความเศร้า เมื่อเด็กโดนขัดใจขณะเล่น เล่นเกมแพ้ หรือได้ผลผิดไปจากที่คาดหวัง เด็กเกิดอารมณ์เชิงลบ เมื่อเกิดอารมณ์เหล่านี้เด็กต้องเรียนรู้วิธีควบคุมและแสดงอออกทางอารมณ์ของตนเองที่เหมาะสม (Daubert et al., 2018) หากเด็กสามารถควบคุมตนเองได้ เด็กจะเกิดความมั่นใจและภูมิใจในตนเอง นำมาซึ่งความรู้สึกดีต่อตนเอง นอกจากนั้นเมื่อเด็กเล่นกับผู้อื่น เด็กเรียนรู้ที่จะสังเกตุและตอบสนองอารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่น ก่อให้เกิดความเห็นอกเห็นใจ (Denham, 1986)

การเล่นพัฒนาสติปัญญาและการเรียนรู้ Piaget (1951) กล่าวว่าการเล่นมีความสัมพันกับพัฒนาการทางสติปัญญา เด็กสามารถพัฒนาสติปัญญาไปสู่ขั้นที่สูงกว่าผ่านการเล่น ต่อมา Vygotsky (1978) รวมเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเล่นว่าเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาการเรียนรู้ ช่วยเพิ่มความสามารถด้านความคิดของเด็กและนำไปสู่การพัฒนา เด็กเกิดมาด้วยความอยากเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา และเด็กเรียนรู้ได้ดีที่สุดผ่านการเล่น เวลาที่เด็กเล่น เด็กต้องใช้ความคิด เด็กต้องแก้ปัญหา ทักษะการแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพถือเป็นทักษะที่สนับสนุนพัฒนาการทางสติปัญญา มีหลักฐานชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างการเล่นกับการแก้ปัญหาอย่างชัดเจน เด็กที่เล่นเยอะสามารถแก้ปัญหาได้ดีกว่า (Vandenberg, 1980) ยิ่งถ้าเด็กถูกท้าทายให้แก้ปัญหาและตัดสินใจอย่างต่อเนื่อง เด็กก็จะพัฒนาทักษะการแก้ไขปัญหาได้ดียิ่งขึ้น และเนื่องจากเด็กชอบเล่น การเล่นจึงเป็นวิธีการสร้างสมาธิจดจ่อและการมุ่งความสนใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้กับเด็ก เมื่อเด็กสามารถมีสมาธิจดจ่อและมุ่งความสนใจได้ เด็กก็สามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆได้มากขึ้น นอกจากนั้นการเล่นยังเป็นเครื่องมือที่ดีในการนำเสนอทักษะคณิตศาสตร์ ภาษา วิทยาศาสตร์ และทักษะทางวิชาการอื่นๆ เป็นสะพานเชื่อมระหว่างเด็กและความรู้ความเข้าใจ ทำให้เด็กรักการเรียนรู้ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพตลอดชีวิต
ด้วยประโยชน์ของการเล่นครอบคลุมพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กครบทุกด้าน การเล่นจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญของหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย การเล่นเป็นวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสมที่สุดตามธรรมชาติ ส่งเสริมความอยากรู้อยากเห็นและความรักในการเรียนรู้ เด็กพัฒนาทักษะได้มากมาย ทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา เด็กที่มีประสบการณ์การเล่นในวัยเด็กมากพอจะมีพัฒนาการที่ดีในทุกด้าน เป็นรากฐานที่มั่นคงสำหรับการเรียนรู้ในระดับชั้นประถมศึกษาต่อไป
กิจกรรมที่น่าตื่นเต้นและสนุกสนานเกิดขึ้นทุกวันที่แคร์โรลล์ เพรพ
แท็กที่เกี่ยวข้อง
#ทำไมเด็กต้องเรียนผ่านการเล่น #เรียนผ่านการเล่น #การจัดการอารมณ์ #การจัดการความเครียด #กิจกรรมสำหรับเด็ก #Projectbasedlearning #กิจกรรมสำหรับเด็ก #การเรียนรู้ #โรงเรียน #education #School #ภาษาอังกฤษ #EnglishProgram #kids # #kidsactivity #learning #preschool #kindergarten