Nature vs Nurture พันธุกรรม vs การเลี้ยงดู TH

“ใครมีลูกมากกว่า 1 คนบ้าง ยกมือขึ้น

ถ้าใครมีลูกมากกว่า 1 คน หรือเจอเด็กๆ มากกว่า 1 คนทุกๆ วันตั้งแต่เล็กจนโตเหมือนคุณครู เราจะสังเกตุเห็นว่า เด็กแต่ละคนมีบุคลิก ลักษณะเฉพาะตัวมาอยู่แล้วแต่เกิด

ครูพบว่าเด็กบางคนมักจะคอยหาวิธีการทำงานทุกอย่างให้ง่ายและใช้พลังงานน้อยที่สุด บางคนสามารถคิดอะไรโจ๋ๆ ตั้งแก๊งได้โดยธรรมชาติ ไม่เคยเห็นในทีวี และไม่มีใครให้ดูเป็นตัวอย่าง แต่คิดขึ้นมาได้เอง

เด็กหลายคนถูกเลี้ยงดูมาเหมือนกัน หรือแม้แต่เลี้ยงในบ้านเดียวกันพ่อแม่เดียวกัน แต่ก็มีบุคลิกที่แตกต่างกันไปอยู่ดี เช่น คนน้องมีความดื้อดึง เทสขอบเขตมากกว่า ต่อให้สอน และได้ผลของการกระทำไปแล้ว ก็ยังมีโอกาสกลับมาลองอีก

ขณะที่คนพี่ เมื่อได้รับการสอน แก้ไขพฤติกรรม โดนผลของการกระทำไปสักครั้งสองครั้ง พฤติกรรมนั้นก็จะหายไป (แล้วตามมาด้วยพฤติกรรมใหม่)

แม้แต่ความชอบความสนใจส่วนตัวก็เกิดขึ้นเองโดยบางครั้งหาไม่เจอว่ามาจากสิ่งแวดล้อมตัวไหน

เรื่องนี้เป็นที่ถกเถียงกันทางจิตวิทยาว่าอะไรกันแน่ที่ทำให้คนหนึ่งคนมีบุคลิก ลักษณะ ความฉลาด เป็นตัวเป็นตนแบบใดแบบหนึ่ง ซึ่งนักวิจัยพบว่าทั้งสองอย่าง พันธุกรรมและการเลี้ยงดูทั้งคู่เป็นส่วนสำคัญหลักในการกำหนดพฤติกรรม ความคิด ของคน

นักวิจัยพบว่า พันธุกรรมมีส่วนแน่ แต่ถ้าไม่ได้รับการเลี้ยงดูที่เหมาะสม และสนับสนุนทักษะเหล่านั้น พันธุกรรมที่มีก็ไม่สร้างความแตกต่าง

เขายกตัวอย่างคนที่มี Perfect Pitch ซึ่งมักสืบทอดกันมาทางพันธุกรรม แต่ถ้าไม่ได้ฝึกดนตรีในวัยเด็ก ก็ไม่สามารถทำให้ความสามารถนี้ปรากฏออกมาได้

เช่นเดียวกันกับความสูง พันธุกรรมจะกำหนดไว้ให้อยู่แล้วว่าเราแต่ละคนจะสูงได้มากที่สุดเท่าไหร่ แต่ถ้าเราไม่ได้กินอาหารที่มีประโยชน์ ไม่ได้ออกกำลังกาย เราก็ไม่สามารถสูงได้เท่าที่พันธุกรรมให้มา

ดังนั้นจะเห็นว่า พันธุกรรมไม่ได้เป็นตัวกำหนดตายตัวว่าลูกจะเป็นแบบไหน และพฤติกรรม การเลี้ยงดูของพ่อแม่ ก็ไม่ใช่ตัวกำหนดตายตัวเช่นกัน ว่าลูกจะออกมาเป็นแบบไหน

แต่การเลี้ยงดูของพ่อแม่ช่วยสนับสนุนพฤติกรรมบวกให้พัฒนาดีขึ้นได้ และลดพฤติกรรมลบๆ ที่มีอยู่แล้วให้น้อยลงหรืออยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ที่สำคัญคืออย่าเพิ่งท้อใจ พยายามทุกๆ วัน แล้วในที่สุดจะเห็นผลลัพธ์ของมัน