
Butterfly Pea Project โปรเจคน้ำอัญชัน เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2566
เริ่มจากที่นักเรียนอนุบาล 3 และประถม 1-2 เล่นบทบาทสมมุติเป็นเมืองเล็กๆ ที่มีทั้งร้านขายของ โรงเรียน บ้าน โรงพยาบาล และอื่นๆ หลังเล่นบทบาทสมมุติเสร็จ นักเรียนคนหนึ่งบอกว่า “อยากขายของจริงๆมากกว่า” จึงเป็นที่มาขอโครงการนี้
นักเรียนอยากขาย อาทิตย์ต่อมาเราจึงมาช่วยกันคิดว่าจะขายอะไรดี มองไปรอบตัว ที่ชั้นสองของโรงเรียนเรามีต้นอัญชันขึ้นเยอะมาก นักเรียนจึงลงความเห็นว่าเราควรจะขายน้ำอัญชันมะนาว
Butterfly Pea Project โปรเจคน้ำอัญชัน
ครั้งที่ 1 ครูและนักเรียนคุยกันคร่าวๆ ว่าเราจะขายอะไรดีดูจากทรัพยากรที่เรามีอยู่แล้ว หลังจากนั้นคิดว่าจะต้องทำอะไรบ้าง ใครสนใจจะทำโครงการนี้บ้าง แล้วใครเหมาะที่จะทำหน้าที่ใดบ้าง ก่อนแยกย้าย นักเรียนและครูตกลงว่าเบื้องต้นเราจะไปเช็คราคามะนาว น้ำตาล แก้ว หลอด แล้วนำมาคุยกันในครั้งต่อไป
ครั้งที่ 2 เวลาผ่านไปสองสามวัน คุณครูไม่ติดตามงาน และงานนี้ก็ไม่คืบหน้า คุณครูคุยกับนักเรียนเรื่องการติดตามโครงงานของตนเอง ถ้าครูไม่มาทักท้วง นักเรียนมีหน้าที่ทักท้วงทวงถามครูจนกว่าจะได้ความคืบหน้า เพราะนี่คือโครงการที่เด็กๆอยากทำเอง
ครั้งที่ 3 นักเรียนเอาข้อมูลราคาของต่างๆที่ได้มารวมกัน พบว่า แต่ละคนนำราคาที่มีหน่วยไม่เท่ากัน หน่วยไม่ตรงกับสูตรการทำน้ำอัญชันที่เรามี เช่น มะนาว 6 ลูก 10 บาท ไม่ตรงกับหน่วยที่เราจะใส่ (60 มิลลิลิตร) ทุกคนเห็นตรงกันว่าถ้าต้องซื้อมะนาวเป็นผลมาคั้นน้ำแล้ววัดปริมาณเป็นมิลลิลิตรจะเกิดความซับซ้อน และควบคุมทุนยาก ครูเลยพานักเรียนค้นหาน้ำมะนาวแบบคั้นเป็นขวด แล้วตัดสินใจว่าจะสั่งของทางช่องทางออนไลน์บนแอพลิเคชั่น Freshket
หลังจากนั้นครูให้นักเรียนค้นหา หลอดใน Shoppee นักเรียนเลือกแก้วกระดาษ หลอดจากธรรมชาติ เพราะเอาความรู้เดิมเกี่ยวกับการดูแลสิ่งแวดล้อมที่เรียนไปก่อนหน้ามาใช้ มีนักเรียนเสนอว่า ให้ลูกค้ายกดื่มหน้าร้านโดยไม่ใส่แก้ว ครูคิดว่าเป็นไอเดียที่ดีมากเลย
ระหว่างเลือกร้านใน Shoppee ครูบอกว่าร้านที่ดี จะได้จำนวนดาวรีวิวเยอะ 4-5 ดาว นักเรียนเลยพุ่งไปที่ร้าน 5 ดาว โดยไม่เทียบยอดขาย ในความเป็นจริง ยอดขายหมื่นชิ้นที่ได้ 4.5 ดาว น่าเชื่อถือกว่า ขายได้ 5 ชิ้น 5 ดาว นักเรียนได้เรียนรู้ทักษะเหล่านี้ระหว่างการค้นหา
ครั้งที่ 4 เมื่อนักเรียนได้ราคาของมาแล้ว แต่เป็นราคาต่อ 50 ชิ้นบ้าง ราคาต่อลิตรบ้าง หน่วยไม่ตรงกัน นักเรียนเลยต้องแปลงหน่วย แต่นักเรียนระดับประถมคุณครูไม่ได้สอนให้หารและคูณแบบปกติ แต่สอนให้กะคร่าวๆ ถ้า 280 มิลลิลิตร กี่ครั้งจะใกล้ 1,000 มิลลิลิตร ที่สุด ถ้าตีว่า 4 ครั้ง เราก็เอาราคา 1 ลิตร 20 บาท มาหาร 4 ก็จะได้ราคาประมาณของส่วนประกอบนั้น
ครูพานักเรียนหาข้อมูลใน Google ว่าน้ำแข็ง 20 กิโลกรัม แบ่งได้กี่แก้ว ราคาน้ำแข็ง นักเรียนได้มาจากการวิ่งไปถามแม่ครัวโรงเรียน และในที่สุด เราได้ราคาทุนแบบไม่รวมค่าเช่าที่และค่าแรง ตกที่แก้วละ 3.1 บาท
ครั้งที่ 5 การหาราคาขาย จะขายเท่าไหร่ดี? ครูพานักเรียนลงไปเช็คราคาตลาดกัน นักเรียนจดราคาเครื่องดื่มในแต่ละร้าน นักเรียนอ่านป้าย ป้ายบางร้านนักเรียนอ่านแล้วเข้าใจผิด เช่น เพิ่มราคาแก้วละ 5 บาท ทำให้นักเรียนเข้าใจว่าขายราคาละ 5 บาท คุณลุง คุณป้ามาอธิบายการขึ้นราคา พอได้ราคามา 15,20,25,35 บาท คุณครูพาหาค่าเฉลี่ยได้มาแก้วละ 24 บาท
ครั้งที่ 6 ครูกลับมาคุยกันว่า เครื่องดื่มแบบเรามีราคา 15 บาท และเป็นร้านที่ขายมานาน ร้านเรามาใหม่ ถ้าขาย 24 บาท นักเรียนคิดว่าน่าสนใจไหม ถ้านักเรียนเคยซื้อขนมแบบนี้อยู่ 15 บาท มีร้านใหม่มา หน้าตาเหมือนกันเลย ขาย 24 บาท นักเรียนจะรู้สึกอยากลองซื้อกินไหม? กลับมาดูทุนอีกครั้ง 3.10 บาท ถ้าขาย 15 บาท จะได้ส่วนต่าง 12 บาท นักเรียนเห็นตรงกันว่าราคาสูงไป จึงตัดสินใจที่จะขายราคาเท่ากับคู่แข่งในตลาด
แต่… ราคาทุนนี้ ไม่รวมถ้าต้องเช่าที่ ปกติเช่าที่ขายของในตลาด ราคาวันละ 1,000 บาท นักเรียนตกใจกับราคา เพราะนักเรียนไม่มีเงิน เราจึงตัดสินใจเขียนจดหมายไปขอพื้นที่ขายของฟรี ครูเป็นผู้จดเนื้อหาและนักเรียนช่วยกันบอกเล่าว่าจะเขียนอะไรลงจดหมายบ้าง
“ขอที่ขายของ…” เดี๋ยวก่อน พวกหนูเป็นใคร แนะนำก่อน ผู้ใหญ่ขอ กับเด็กขอ ต่างกันไหม?
เอาใหม่ “พวกเรานักเรียนแคร์โรลล์ เพรพ ป.2…….” “พวกเราจะขายน้ำอัญชัน….แท้ “
โอเค แล้วยังไง?
“ขอพื้นที่…”
พื้นที่เท่าไหร่… นักเรียนไม่ทราบ นักเรียนจึงวิ่งไปวัดโต๊ะ แต่นักเรียนบอกว่าต้องใช้โต๊ะอีกตัว จึงนำขนาดด้านหนึ่งไป x2 และเอาขนาดมาใส่
“ขอพื้นที่ 240×120 ซม. ขายน้ำอัญชันฟรีได้ไหม…”
ทำไมเขาต้องให้? โน้มน้าวครูหน่อย สมมุติครูเป็นเจ้าของตลาด ครูกล่าว
“พวกเราไม่มีเงินเลย…” นักเรียนกล่าว
ครูขำ แล้วบอกว่า “โอเค ไม่มีเงินแล้วยังไง นั่นมันปัญหาของพวกหนู”
“งั้นเราขายได้เงินแล้วจะให้หมดเลย”
ครูตกใจ “ให้หมดแล้วเราจะขายทำไม แล้วเราจะเอาเงินที่ไหนไปซื้อของที่เราอยากได้ละ?”
“โอเคๆ งั้นให้บางส่วน” นักเรียนตอบ
“ให้เท่าไหร่ ถ้าเราตอนนี้หักทุนแล้วเหลือ 12฿ “
นักเรียนมองหน้ากัน คิดหนักเหมือนรายการ Shark Tank “2฿ ต่อแก้ว ดีไหม?”
ครูถามต่อ “แล้ววันนึงจะขายได้เท่าไหร่ กี่แก้ว?”
“10แก้ว”
ครูตกใจรอบสอง “10 แก้ว ตลาดได้เงิน 20 บาท คิดว่าเขาจะอยากให้ไหม?”
“โอเค งั้น 100 แก้ว”
แสดงว่าตลาดอาจทำรายได้ 200 บาท โอเค ลงท้ายจดหมายหน่อยสักประโยค
“ขอได้ไหมครับ/คะ”
หลังจากนั้นนักเรียนแบ่งกันว่าใครจะจัดโต๊ะ ใครจะเขียนจดหมาย ใครจะออกแบบป้าย ครูถามว่าจะเสร็จเมื่อไหร่? ทุกคนบอกว่า “วันนี้แหละ” มีการเลือกคนที่เหมาะกับงานแบบต่างๆ ถนัดในเรื่องต่างๆ และทุกคนมีงานหมด นักเรียนพยายามแบ่งเพื่อนให้บาลานซ์ และช่วยกันได้ ไม่ทิ้งใครสักคน ดีมากเลย
ตกเย็นแอบไปดู ไม่เสร็จสักอย่าง จึงคุยกันเรื่องการประเมินเวลาตามความสามารถและกิจวัตรของตัวเอง การตั้งเป้าที่เป็นไปได้
ลองไปเช็คจดหมายเขียน นักเรียนเขียนไปสี่ประโยค แค่ไม่เว้นช่องบรรทัด อ่านยาก เลยให้เพื่อนลองอ่าน เพื่อนอ่านไม่ออก ครูถามต่อว่า งั้นผู้ใหญ่ที่ต้องทำงานหลายอย่าง ไม่ว่างจะเสียเวลาอ่านไหม? ดังนั้นต้องทำยังไงดี? ต่อมาจดหมายเอาไปฝากครูท่านหนึ่งไว้ แล้วครูทำหาย จึงได้คุยกันว่า งานของเรา เรารับผิดชอบ ต่อไปจะฝากอีกไหม?
ระหว่างรอมอบจดหมายในวันที่ผู้บริหารเข้าออฟฟิศ เด็กๆสลับกันไปเก็บดอกไม้
ครั้งที่ 7 ผู้บริหารตลาดไม่ว่างเลย ไม่สามารถให้เวลานัดได้ แต่เราจะไม่ยอมล้มเลิก เรารู้ว่าทุกคนต้องรับประทานอาหารกลางวัน นักเรียนและครูไปยืนรอพบช่วงพักกลางวัน แต่รอบแรกไม่สำเร็จ เพราะผู้บริหารไม่เข้ามาที่ออฟฟิศในวันนั้น เรากลับมาคุยกันต่อว่าจะทำยังไง ต้องรออังคารถัดไปถ้าจะยื่นจดหมายตรงถึงผู้บริหารแต่จะได้คำตอบทันที และเป็นไปได้ที่จะอนุญาต แต่ถ้าส่งผ่านเจ้าหน้าที่ เราจะต้องรอเรื่องของเราไปถึงผู้บริหาร และมีความเสี่ยงที่จะไม่อนุญาตหรือเรื่องจะไปไม่ถึง เด็กๆ เลือกที่จะรอ…
ครั้งที่ 8 หนึ่งอาทิตย์ผ่านไป นักเรียนกับครูไปดักรอตอนเที่ยงอีกครั้ง ครั้งนี้ สำเร็จ! เราได้คำตอบว่า อนุญาต และเราจะเริ่มขายกันในวันจันทร์หน้า อาทิตย์นี้เราจะสั่งของออนไลน์และทำป้ายร้านให้เสร็จเรียบร้อย แน่นอนว่าเราขายราคา 15 บาทได้ตามที่วางแผน




Butterfly Pea Project โปรเจคน้ำอัญชัน