
ขัดแย้ง VS โดนกลั่นแกล้ง
(CONFLICT VS. BULLYING)
สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองเป็นห่วงกันมากในปัจจุบัน คือ การกลั่นแกล้ง (Bullying) ในโรงเรียน เมื่อไหร่ที่ลูกกลับบ้านมาระบายว่าเพื่อนคนนั้นทำอย่างนั้น คนนี้ทำอย่างนี้ พ่อแม่มักกังวลใจและมีความต้องการอยากเข้าช่วยเหลือ บทความนี้จะนำเสนอข้อมูลว่าลักษณะแบบไหนคือการโดนกลั่นแกล้งและแบบไหนคือความขัดแย้งทั่วไป เพื่อช่วยให้ผู้ปกครองสนับสนุนช่วยเหลือนักเรียนได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
ความขัดแย้ง คือ การที่บุคคลที่มีสถานะ อำนาจเท่าเทียมกัน แต่มีความเห็นไม่ตรงกัน เถียงกัน ทะเลาะกัน โดยไม่ได้มีเจตนา มีเป้าหมายที่อยากจะทำร้ายให้บาดเจ็บหรือเสียใจ ทั้งสองฝ่ายมีอำนาจในการแสดงออกทางความรู้สึก ความต้องการของตนเองเท่าๆกัน
ตัวอย่าง
– เมื่อเด็กคนหนึ่งกระตุ้นเด็กอีกคนหนึ่งด้วยท่าทาง คำพูด การกระทำ แล้วโดนเด็กผลัก = ความขัดแย้ง
– เมื่อเด็กคนหนึ่งกำลังเล่นของเล่นอยู่ แล้วโดนเพื่อนแย่ง เด็กคนนั้นร้องไห้ = ความขัดแย้ง
– เมื่อเด็กคนหนึ่งโดนรุ่นพี่พูดล้อเลียนเป็นประจำ จนเกิดความรู้สึกแย่ เด็กคนนั้นไม่สามารถหยุดพี่ได้ = ไม่ใช่ความขัดแย้ง
– เมื่อเด็กคนหนึ่งเห็นเพื่อนนอนอยู่แล้วดึงขาเพื่อนเล่น เพื่อนใช้ขาเตะออก = ความขัดแย้ง
การกลั่นแกล้ง คือ การที่มีเด็ก/ผู้ใหญ่ คนที่มีอำนาจเหนือกว่าและใช้อำนาจนั้นในการควบคุม พูด กระทำ ต่ออีกฝ่าย ซ้ำและซ้ำเล่า จนเกิดความบอบช้ำทางกายหรือทางใจโดยเจตนา โดยผู้ถูกกระทำพบความยากลำบากในการหยุดการกระทำนั้นๆ
ตัวอย่าง
– เมื่อเด็กคนหนึ่งโดนรุ่นพี่พูดล้อเลียนเป็นประจำ จนเกิดความรู้สึกแย่ เด็กคนนั้นไม่เคยตอบโต้ และไม่สามารถหยุดพี่คนดังกล่าวได้ = การกลั่นแกล้ง
– เมื่อครูพูดประจานนักเรียนในห้องเรียนเกี่ยวกับทรงผมทุกวัน โดยที่เด็กไม่มีอำนาจโต้เถียงและต้องทนกับความอับอาย = การกลั่นแกล้ง
– เมื่อผู้ใหญ่กลุ่มหนึ่งทำท่าทีรังเกียจ พูดเหยียดหยันผู้ใหญ่อีกคนหนึ่ง โดยที่ผู้ใหญ่คนนั้นไม่ได้ตอบโต้ซ้ำๆ = การกลั่นแกล้ง
ถึงแม้ว่าความขัดแย้งมักนำมาซึ่งความเครียดและความเจ็บปวด แต่ความขัดแย้งเป็นส่วนสำคัญของการสร้างความสัมพันธ์ เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างเด็กๆ นั่นเป็นสัญญาณว่าพัฒนาการทางสังคมได้เกิดขึ้นแล้ว เพราะเมื่อเด็กเล่นกับเพื่อนเป็นเท่านั้น เด็กจึงจะมีความขัดแย้งได้
ความขัดแย้งโดยทั่วไปของเด็กๆ ได้แก่ ทะเลาะกัน แย่งของเล่นกัน ผลักกัน ตีกัน พูดสิ่งที่เพื่อนไม่ชอบ คุณครูถูกฝึกฝนให้สังเกตุการณ์ และชี้แนะนักเรียนตามความเหมาะสม เมื่อเด็กๆได้รับการอบรมมากพอ ประกอบกับพัฒนาการควบคุมตนเองที่ดีขึ้น เด็กจะค่อยๆ ปรับตัวและสามารถเป็นเพื่อนที่ดีได้
สุดท้ายแล้วความขัดแย้งมักถูกจัดการได้ด้วยตัวเด็กเอง เด็กต้องการโอกาสในการจัดการความขัดแย้งนี้ เพื่อให้ตัวเองสามารถเป็นผู้ใหญ่ที่ยืนหยัดเพื่อตัวเองและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้คนรอบตัว
บ่อยครั้งเมื่อผู้ใหญ่เข้ามาร่วมในการจัดการความขัดแย้ง มักจบลงด้วยการกลั่นแกล้งของผู้ใหญ่ที่มีอำนาจมากกว่ากับเด็กที่ไม่มีสถานะที่จะตอบโต้กับผู้ใหญ่ แคร์โรลล์ เพรพ ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการกลั่นแกล้งภายในโรงเรียน ครู ผู้ปกครอง จะต้องปฎิบัติตนเป็นตัวอย่างในการจัดการความขัดแย้งที่เหมาะสม
ที่มา : https://www.pacer.org