ความพอดี ดีสำหรับทุกอย่าง แต่ทำไมเราสุดโต่งกับการศึกษาของเด็ก?

หลายๆ คนอาจจะเคยเห็นโรงเรียนที่กำลังสร้างอาคารใหม่ 4 ชั้น อยู่ในพื้นที่ด้านหน้าของบองมาร์เช่ มาร์เก็ต พาร์ค ใกล้วัดเสมียนนารี โซนเดียวกับโรงเรียนดรุณพัฒน์และโรงเรียนอนุบาลแสงโสม

วันนี้เราได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณแพท พนิดา แคร์โรลล์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้ Carroll Preparatory Primary & Preschool บทสัมภาษณ์นี้น่าจะทำให้เข้าใจที่มาที่ไปของศูนย์การเรียนและมุมมองเกี่ยวกับการศึกษาของผู้ก่อตั้งศูนย์การเรียนนี้มากขึ้น

การศึกษา

Q : “เรามาเริ่มคุยกันเลยนะคะ คุณแพทเข้ามาสู่แวดวงโรงเรียนได้อย่างไรคะ?”

A : “จริงๆเหมือนจับผลัดจับผลูเข้ามาค่ะ คล้ายการเจอสามีด้วยพรหมลิขิต 😂 

เริ่มจากได้รู้จักสามี คุณจอร์จ แคร์โรลล์ ชาวอเมริกัน ที่เขาอยู่ในวงการนี้ตั้งแต่รุ่นคุณแม่ แม่เขาทำธุรกิจดูแลเด็กในอเมริกา ปกติเด็กที่โน่นเขาจะเข้าโรงเรียนช่วง 5-6 ขวบ แม่เขาก็จะดูแลเด็กก่อนวัยเรียนกลุ่ม 2-5 ขวบ จนเขาได้มาสอนที่ไทยเมื่อปี 2003 เขามีความรักและหลงไหลด้านนี้มาก เราเห็นความแตกต่างในความคิดเขา เขาจะมองภาพรวมว่าตัวเขาทำอะไรให้กับสังคม ให้กับโลก ตอนเจอกัน คือ กรุงเทพน้ำท่วม ตัวเขาเองจะเจ๊งอยู่แล้ว ยังมีจิตใจไปแจกข้าวกล่อง (ขำ)

“ตัวเรามาจากครอบครัวไทย เน้นธุรกิจ หาเงิน ทำเงินอย่างเดียว มาเจอเขารู้สึกว่าเขาเป็นคนจิตใจดีจัง แปลกประหลาดที่สุด แต่เขาทำเพื่อเงินไม่เป็น เขาเป็นครูและเป็นผู้เชี่ยวชาญในทุกมุมมองที่เกี่ยวข้องกับนักเรียน เกี่ยวข้องกับเด็ก แต่ไม่ใช่นักธุรกิจที่ดี เราเลยได้เข้ามาช่วยบาลานซ์ในส่วนนี้”

ทะเลาะกับสามีบ่อยมาก เพราะความไม่เข้าใจ ทำให้เราต้องศึกษาเพิ่มเติมอย่างหนัก เข้าใจการศึกษาและเด็กมากขึ้น

“ระหว่างการทำงานด้วยกัน คุณจอร์จก็จะมีขอบเขต มีขีดจำกัดมาให้ บางทีมันขัดกับการทำธุรกิจ ทะเลาะกันบ่อย เราก็ต้องทำความเข้าใจในข้อมูล ข้อจำกัดพวกนั้น เพราะคุณจอร์จจะไม่ยอมจริงๆ เราก็ต้องคิดว่าจะทำยังไงให้มันดีกับเด็กและเรายังหากินได้ด้วย ผ่านมา 10 กว่าปีแล้ว กิจการมันโตมาเรื่อยๆ จนถึงวันนี้ค่ะ เราเองก็พบว่าสิ่งที่เราทำมันให้ความอิ่มเอมใจ เรารู้ว่าเราเปลี่ยนเส้นทางชีวิตของเด็กคนหนึ่งได้ด้วยการศึกษาที่ดี มันต่างจากการทำงานอื่นที่เคยทำมากเลย งานอื่นก็สนุก ได้เงินจริง แต่มันไม่เติมเต็มจิตใจ”


Q : “โรงเรียนนี้สร้างเพื่อลูกจริงไหม?”

A : “มีส่วนค่ะ แค่ไม่ใช่เหตุผลทั้งหมด เราไม่ได้รวยขนาดนึกจะสร้างโรงเรียนแล้วสร้าง

“เราไม่ได้ให้ลูกไปโรงเรียนไหนเลยจริง เพราะเราเห็นเด็กมาเยอะจากหลากหลายแนวโรงเรียน เราเจอเด็กเป็นพันคนในรอบ 10 ปี เราคอยแก้ปัญหาเดิมๆ ซ้ำๆ เสียเวลานาน เราไม่อยากให้ลูกเข้าวงเวียนนั้น

จังหวะมันพอดิบพอดี เราไปเจอว่าที่ดินด้านหน้าตลาดบองมาร์เช่ขายเลยบอกข่าวไปที่คุณจิทัศ (ผู้บริหารบองมาร์เช่)

สุดท้ายเขาได้ซื้อขายที่กัน คุณจิทัศมีการวางแผนสร้างอาคารใหม่ เรารู้ข่าวก่อนเลยได้โอกาสในการตัดสินใจอะไรหลายๆอย่างในตึกนี้ ตอนแรกจะมีสองชั้น เปลี่ยนเป็นสาม และสี่ในที่สุด เรียกว่าเลยเถิดไปเลย เราหาโอกาสที่ดีแบบนี้ไม่ได้อีกแล้ว

ประกอบกับช่วงนั้นมี COVID19 เราต้องเลือกว่าจะโตหรือจะดับ สถานการณ์แบบนี้เล็กๆ อยู่ไม่ได้ เราเลือกที่จะโต ซึ่งก็ถูกแล้วที่ทำ เพราะโควิดอยู่นานมาก

บางคนบอกว่า ธุรกิจโรงเรียนซบเซา เราว่าจริงสำหรับโรงเรียนทั่วไป แต่โรงเรียนลักษณะของเราหายาก กลุ่มเป้าหมายเราเจาะจง รับจำนวนน้อย ปัจจุบันอาคารยังไม่เสร็จก็รับสมัครได้ 50% แล้วค่ะ ช่วงที่มีโควิด เราได้นักเรียนเพิ่มขึ้น เพราะหลายๆ ครอบครัวได้เห็นการเรียนการสอนออนไลน์แล้วพบว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ต้องการ

ตอนนี้เรามีสมัครนักเรียนของปี 2566 แล้วด้วย เรารับไม่เกิน 160 คน ตอนแรกคิดว่า เราน่าจะมีเด็กประถมน้อย จะหาจากไหน แต่ปรากฎว่า ประถม 1 เป็นกลุ่มแรกที่เต็ม และเรามองเห็นอนาคตว่าต่อไปการเข้า อ.1 น่าจะยากขึ้น เพราะมีนักเรียนที่เข้าตั้งแต่เตรียมอนุบาลเยอะอยู่แล้ว”

Q : “ทำไมจดทะเบียนเป็นศูนย์การเรียนรู้ ไม่เป็นโรงเรียนเอกชน?”

A : “ตอนแรกก็จะจดเป็นโรงเรียนเอกชน แต่พอไปติดต่อ พบว่าข้อจำกัดเยอะมากตั้งแต่การสร้างเลย ซึ่งเป็นกฎที่คิดไว้ตั้งแต่ปี 2550 มันเกือบ 16 ปีมาแล้ว

เงื่อนไขแรกก็ขัดใจและขัดกับการศึกษาสมัยใหม่แล้ว เขาต้องการให้เราแบ่งห้องเรียนเป็นห้องๆ มีประตู จึงจะนับเป็น 1 ห้องเรียน แต่เราทำห้องเรียนแบบ Open-Classroom ที่ไม่มีกำแพง ไม่สร้างกล่อง กว้างและมีเด็กคละอายุ เขาจะนับว่าได้แค่ 1 ระดับชั้น เราคิดว่าเราได้มีโอกาสได้สร้างอาคารและออกแบบพื้นที่นั้นหมดเองแล้ว จะมาอยู่ในข้อจำกัดที่คิดกันเมื่อหลายสิบปีก่อนไม่ได้ 

“เราออกแบบพื้นที่การเรียนให้เป็นครู มันไม่ใช่แค่ห้องห้องเดียว แต่พื้นที่คือครูตัวจริง คุณอยู่ในพื้นที่นี้ ถึงเล่นเอง คุณได้เรียนรู้อะไรแน่นอน”

“พอเดินออกจากกระทรวงศึกษาธิการ ก็โทรหาสามีเลย เราต้องจดแบบอื่นแล้วแหละ”

“เราเลยมาศึกษาต่อว่าอะไรที่เปิดกว้างและให้อิสระเรามากขึ้น ก็มาเจอว่าส่วนงานเดียวกับการจดบ้านเรียน (Homeschooling) มีสิ่งที่เรียกว่า ศูนย์การเรียนรู้ สามารถออกวุฒิได้ทุกอย่างเหมือนโรงเรียน แต่ก็ไม่ได้จดมาง่ายๆ ใช้เวลาเกือบปี เพราะจริงๆการจดศูนย์การเรียนรู้ก็มีข้อจำกัดอีก แต่เราก็สู้ให้ข้อจำกัดนั้นมันถูกยกเว้น ต้องให้ผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา ช่วยสนับสนุนความคิดของเราหลายรอบ”

“การทำอะไรใหม่ๆ ไม่ง่ายในประเทศนี้ “

แต่ก็เข้าใจ ไม่มีใครอยากลองอะไรใหม่ๆ เพราะลองแล้วอาจผิดพลาด ผิดพลาดแล้วเรียกว่าไม่เก่ง แต่อาจลืมไปว่า การอยู่ที่เดิม ต่างหากที่ทำให้เราพลาดอะไรไปเยอะมาก คนเราเรียนรู้ได้ดีจากความผิดพลาด ผิดแล้วเรียนรู้ พัฒนาปรับปรุง แล้วเราก็ดีขึ้นไปอีกระดับ

Q : “ทุกคนรู้ว่าการศึกษาที่ดีเป็นยังไง แต่ไม่มีใครทำ อันนี้หมายความว่ายังไง?”

A : “ตอนเราจดทะเบียน เราได้อ่านพวกหลักสูตรไทยทั้งอนุบาล ประถม แล้วพบว่า อ๊าว ก็หลักสูตรดีนี่นา ไม่เกินวัย และคล้ายกับเป้าของต่างประเทศมาก มีการเน้นพัฒนารายบุคคลเหมือนที่เราคิดเลย แสดงว่าทุกคนรู้ กระทรวงรู้ ทุกโรงเรียนที่จดทะเบียนรู้ว่ามันควรเป็นอย่างไร แต่ มันไม่เคยมีจริง! เท่านั้นเอง เราทำแล้ว พบว่า เออ..ยากจริง (ขำ)”


Q : “คำว่า “พอดี” ในมุมของการศึกษา แปลว่าอะไร?”


A : “ทุกคนรู้ว่ากินแต่พอดี ดีต่อสุขภาพ จะกินของหวาน ของมัน ถ้าพอดี คือจบ แต่กับการศึกษาเราเห็นแต่ความสุดโต่ง

วิชาการแบบเกินวัยสุดๆ ประถม 1 ท่องศัพท์คำว่า reproduce ทั้งๆที่ yellow ยังไม่รู้จัก เรียนตั้งแต่ 7:00-20:00 น.

หรือสายชิวสุดโต่ง เล่นจริงๆ เล่นแบบไม่สอนอะไรเลยแม้กระทั่งการดูแลตัวเอง การเล่นกับเพื่อน การเก็บข้าวของ ดูแลของส่วนรวม ชิวจนนักเรียนคิดว่าตัวเองต้องอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ หมดศรัทธาในความสามารถทางวิชาการของตัวเอง

บ้านเรียน หรือ Homeschool สุดโต่ง ไม่สอนอะไรเลย ลืมไปเลยว่าลูกในวันหนึ่งเขาจะอยากมีเพื่อนมากกว่าแม่ ลืมไปว่าเขาอาจอยากไปโรงเรียนและทักษะการเรียนให้เป็นอาจจะต้องใช้

เราเลยจะเป็นตรงกลางที่ “พอดี” พอดีระหว่างพัฒนาให้เด็กงอกงามทางวิชาการ ในขณะเดียวกันก็ยังเก็บความรัก ความกระตือรือล้นที่จะเรียนรู้ ถ้าถึงจุดที่ต้องเลือก ความรักเรียน หรือ อ่านคำออกสักคำ เราเลือกเก็บความรักไว้ก่อน

คำว่า “พอดี” ของเรา คงเหมือนการชั่งน้ำหนักความสำคัญของความรัก และ วิชาการ ให้บาลานซ์ไว้ตลอดเวลา”

Q : “โลกใหม่ การศึกษาเดิมไม่ได้ผลหรอ?”

A : “การศึกษาวิธีเดิม ได้ผลแบบไหนละ ถ้าคนทำตามคำสั่ง คิดไม่ได้ แก้ปัญหาไม่เป็น หรือไม่มีความคิดจะแก้อะไรเลย อยู่ไปวันๆ อาจมีบางคนสามารถแหกความทั่วไปออกมาโดดเด่นได้ แต่มีอีกเยอะมากๆ ที่ไม่ได้พัฒนาศักยภาพให้ถึงที่สุด

ช่วงปีที่ผ่านมา เราสัมภาษณ์คนเข้าทำงานเยอะมาก บอกได้เลยว่า เฮ้อ.. (ยิ้ม) และนั่นคือวัยทำงานที่เรียนผ่านมา 20 แล้ว มันไม่เวิร์ค มันไม่ได้ และถ้ารุ่นลูกเรายังเรียนแบบเดิม เรียนเพื่อสอบแบบเดิม เรามั่นใจว่ายิ่งไม่ได้

ต่อไปอะไรที่ไม่ต้องคิด เราให้หุ่นยนต์ เขียนโปรแกรมคิดให้เราก็ได้จริงไหม มนุษย์จะต้องมีศักยภาพมากกว่าแค่ตามสั่ง

นอกจากเอาตัวเองรอด เราอยากผลิตคนที่แคร์สังคมให้รอดด้วย เรารอดคนเดียวไม่ได้หรอก วันไหนจะไปเจอหมอที่ขาดความใส่ใจ เห็นใจ ปล่อยเราตายก็ได้ จะเห็นว่าฉลาดอยู่คนเดียวก็ไม่ได้ สุดท้ายมันต้องร่วมกันรอด”


Q: “คิดว่าตัวเองโลกสวยไหม?”

A : ” (ขำ) เราคิดแบบนั้นจริงๆ เราได้มาจากสามี สามีโลกสวยกว่านี้อีกค่ะ คนเรามันต้องมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ และการที่เราได้เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาอะไรบ้างอย่าง มันเติมเต็มจิตใจ มัน fulfilled เราภูมิใจในตัวลูกที่เขา 5 ขวบ อยู่ดีๆ ก็คิดอยากปลูกต้นไม้ให้นกเงือก เพราะมันจะสูญพันธุ์ และเหตุของการสูญพันธุ์ เพราะมันไม่มีต้นไม้ใหญ่ๆอยู่ และเขาก็คิดเองเลยว่า เราน่าจะต้องปลูกต้นไม้ จะเห็นว่ามันต่างจากสมัยเราเรียนมาก ที่ครูจะต้องใส่ข้อมูลพวกนี้”


Q : “สุดท้าย อยากฝากอะไร?”


A : “ขายของได้ไหม? สมัครเรียนได้นะ ร่วมลงทุนก็ได้นะ (ขำ)”


สำหรับใครที่สนใจเกี่ยวกับโรงเรียนสามารถติดต่อได้ที่ 02-954-2168 หรือ LINE Official : @carrollprep

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ : Homeschool บ้านเรียนคืออะไร

More about : Open Classroom